วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2554

เอนไซม์เพื่อชีวิต :ที่มา และประวัติ

เอนไซม์เพื่อชีวิต

เอนไซม์เพื่อชีวิต
(Enzyme for Life)
ว่าที่ร.ต. จาตุรงค์  จงจีน
สาขาชีววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ความรู้เกี่ยวกับเอนไซม์
เมื่อประมาณ  200  ปีที่ผ่านมา  มนุษย์ได้เริ่มรู้จักเอนไซม์  เพราะมีการใช้ส่าเหล้า หรือยีสต์ (yeast)  มาหมักน้ำตาลทำให้เกิดแอลกอฮอล์ขึ้นมา  แต่ก็ยังไม่ทราบว่า  “อะไรก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้”  จึงเรียกว่า  “สิ่งที่อยู่ในส่าเหล้า”  ซึ่งมาจากคำว่า  In-Yeast  และเปลี่ยนมาเรียกเป็น เอนไซม์  โดยคำว่า ไซม์  (Zyme) มาจากยีสต์   และอิน  (In)  ก็มาเป็น  เอน  (En)  มารวมกับเป็นคำว่า  เอนไซม์
ในอดีตชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่ามีพลังที่ลึกลับและมองไม่เห็น  ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งหนึ่งให้กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งได้  เช่น  จากนมให้เปลี่ยนเป็นเนยแข็ง   น้ำ องุ่นเปลี่ยนเป็นไวน์  เป็นต้น  ซึ่งต่อมานักวิทยาศาสตร์จึงทราบว่าสิ่งมหัศจรรย์นั้นที่แท้ก็คือ  เอนไซม์  นั่นเอง
เอนไซม์ คือ ตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีที่เกิดในสิ่งมีชีวิต (biocatalyst) ทำให้อัตราเร็วของปฏิกิริยาเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 108 – 1014  เท่าของปฏิกิริยาเดิมที่ไม่มีเอนไซม์ เป็นตัวเร่ง ในปฏิกิริยาที่มีเอนไซม์เป็นตัวเร่งนั้น สารที่เข้าทำปฏิกิริยากัน (reactant) มีชื่อเรียกว่าซับสเตรต (substrate) โดยส่วนใหญ่แล้วเอนไซม์ชนิดหนึ่งๆ จะสามารถเร่งปฏิกิริยาที่มีซับสเตรตชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น นั้นคือ เอนไซม์เป็นตัวเร่งที่มีความจำเพาะต่อซับสเตรต และเอนไซม์ส่วนใหญ่เป็นโปรตีนที่มีลักษณะเป็นก้อนกลม (globular protein) ความสามารถในการทำงานของเอนไซม์จะขึ้นอยู่กับโครงรูปของโปรตีน
นักชีวเคมีชื่อ ไมเคิลลิส  และ  เมนเทน  (Michaelis  and  Menten)  ได้อธิบายไว้ว่า  เมื่อเอนไซม์เข้าทำปฏิกิริยากัน  เอนไซม์จะจับกับสารตั้งต้นอย่างสนิทเหมือนกับ  “แม่กุญแจกับลูกกุญแจ”  โดยคุณสมบัติดังกล่าวจะทำให้เกิดสารประกอบเชิงซ้อนของเอนไซม์กับผลผลิต  (enzyme product complex)
ในปี ค.ศ. 1894  อีมิล ฟิชเชอร์ ได้เสนอสมมติฐาน แม่กุญแจ-ลูกกุญแจ (lock and key hypothesis) หรือแบบจำลองแม่กุญแจกับลูกกุญแจ (lock and key model)  ตามแนวความคิดแบบจำลองแม่กุญแจกับลูกกุญแจนั้นเอนไซม์เปรียบได้กับลูกกุญแจ และซับสเตรตเปรียบได้กับแม่กุญแจซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อไขด้วยลูก กุญแจโดยแม่กุญแจจะต้องมีรูปร่างพอเหมาะกับเอกทีฟไซด์ของลูกกุญแจเท่านั้น จึงจะรวมกับเอนไซม์และเกิดปฏิกิริยากลายเป็นผลิตภัณฑ์  นอกจากนี้เอนไซม์ยังสามารถเร่งปฏิกิริยาย้อนกลับได้ กล่าวคือ เอนไซม์เปลี่ยนซับสเตรตให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ และสามารถเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เป็นซับสเตรตดังเดิมได้
ในปี ค.ศ.1959  คอชแลนด์ ได้เสนอสมมติฐานเหนี่ยวนำ (induced fit hypothesis) หรือแบบจำลองการเหนี่ยวนำ (induced fitmodel)   กล่าวว่าเอกทีฟไซด์จะสามารถยืดยุ่นและเปลี่ยนภาพได้ โดยเมื่อซับสเตรตเข้าใกล้บริเวณเอกทีฟไซด์ของเอนไซม์ ซับสเตรตจะเหนี่ยวนำให้เอนไซม์เปลี่ยนลักษณะโครงรูปบริเวณเอกทีฟไซด์ให้มี ขนาดและรูปร่างพอเหมาะที่จะรวมกับซับสเตรตได้

กลไกการทำงานของเอนไซม์

บิดาแห่งวิชาเอนไซม์
ผู้ที่เรียนวิชาเอนไซม์ (Enzymology)  ทุกคนจะต้องรู้จักชื่อ  ดร.นายแพทย์  เอดเวิด  โฮเวล  (เป็น “แพทย์”  และได้รับปริญญาเอกเป็น “ดอกเตอร์” ด้วย)  ในฐานะผู้บุกเบิกความรู้เรื่อง “เอนไซม์”  มายาวนานนับตั้งแต่  ค.ศ. 1930  (พ.ศ. 2473)  โดยเริ่มจากการประกอบวิชาชีพแพทย์  พร้อมกับการศึกษาความลี้ลับของเอนไซม์ที่มาจากพืชและจากจุลินทรีย์  โดยพบว่ามีคุณสมบัติเช่นเดียวกับเอนไซม์ย่อยอาหารที่ผลิตในร่างกายมนุษย์  และสามารถทำงานทดแทนกันได้
จากผลสำเร็จของการวิจัย  ดร.โฮเวลจึงได้ผลิตเอนไซม์ขึ้นมาใช้กับผู้ป่วย  โดยทำเป็นอาหารเสริม  เพื่อประกอบการรักษาโรคต่างๆ  และพบว่า การใช้เอนไซม์เสริมนั้นได้ผลดีมากๆ  ความสำเร็จชิ้นนี้ทำให้  ดร.โฮเวลได้รู้ถึงความสำคัญของเอนไซม์ชนิดต่างๆ  รวมทั้งวิธีสร้างตำรับหรือสูตรของเอนไซม์เสริมที่เมาะสม  และยังได้เขียนตำราเกี่ยวกับวิชาโภชนาการที่สำคัญรวม 3 เล่ม  ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังนำมาใช้อ้างอิงจนทุกวันนี้  จึงสามารถกล่าวได้ว่า  ดร.โฮเวล  คือ  “บิดาแห่งวิชาเอนไซม์”
เอนไซม์สำคัญกว่าแก๊สออกซิเจนที่ใช้หายใจ
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ปราศจากเอนไซม์จะไม่สามารถดำรง ชีพอยู่ได้  แต่ถ้าเราพูดว่าอากาศ  หรือ  แก๊สออกซิเจนมีความสำคัญมากในมนุษย์และสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ  แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่ความสำคัญในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง  เพราะความจริงแก๊สออกซิเจนที่เราจำเป็นต้องใช้ในการหายใจ  เกิดจากปฏิกิริยาเคมีในพืชใบเขียวซึ่งมีเอนไซม์เป็นตัวเร่ง  โดยเปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์  (CO2) ให้เป็นแก๊สออกซิเจน  (O2)  ต้นไม้และพืชทั้งหลายสามารถผลิตเอนไซม์ที่จะใช้ในการทำปฏิกิริยาดังกล่าวได้ โดยตัวเอง  และใช้เอนไซม์เหล่านี้มาสลายแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์อีกต่อหนึ่ง  ให้มาเป็นแก๊สออกซิเจนโดยปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ก็ต้องใช้เอนไซม์ เป็นตัวช่วย  และทำให้สิ่งมีชีวิตสามารถใช้ออกซิเจนเพื่อการดำรงชีพต่อไป
เอนไซม์สำคัญกว่าวิตามินหรือเกลือแร่
เอนไซม์จำเป็นสำหรับทุกปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย  เซลล์ทั้ง  60  ล้านล้านเซลล์ต้องใช้เอนไซม์เพื่อเร่งปฏิกิริยานี้  ถ้าไม่มีเอนไซม์  วิตามิน  เกลือแร่ในร่างกายก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย  เพราะสารต่างๆ ดังกล่าวคือ  ตัวร่วมกับเอนไซม์  (coenzyme)  ในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ทั้งเซลล์  อวัยวะและร่างกาย  จนสุดท้ายคือการสร้างสิ่งมีชีวิต   เมื่อไม่มีเอนไซม์ให้ร่วมทำปฏิกิริยา  วิตามินและเกลือแร่เหล่านั้นก็ไร้ประโยชน์ เป็นเพียงแค่เศษผงธรรมดาในร่างกาย
เอนไซม์กับความสำคัญในร่างกาย
นักชีวเคมีเชื่อว่าเอนไซม์ที่ผลิตขึ้นในร่างกายแต่ละ คนนั้นมีจำนวนจำกัด  ดังนั้นจึงต้องประหยัดเพื่อจะได้มีเอนไซม์ไว้ใช้ให้นานที่สุด  ถ้าต้องการมีอายุยืนยาวและสุขภาพดี  ต้องอาศัยเมแทบอลิก  เอนไซม์  (Metabolic Enzyme)  หรือเอนไซม์สำหรับการเผาผลาญอาหาร  ซึ่งมีส่วนสำคัญในการซ่อมแซมและสร้างเซลล์ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย   เป็นภูมิต้านทานโรค   ป้องกันความเสื่อมโทรมในร่างกาย  แต่กฎของธรรมชาติให้ไว้ว่า  ถ้าเอนไซม์ในการย่อยสลายสารอาหารไม่เพียงพอ  ร่างกายต้องดึง    เมแทบอลิกเอนไซม์ออกมาใช้  ซึ่งสะสมไว้ในเซลล์ต่างๆ  เพื่อนำมาทำงานที่ต่ำชั้นกว่า  คือ  ย่อยอาหาร  ทำให้เมแทบอลิกเอนไซม์หมดไป  จึงทำให้พลังของชีวิตไม่เพียงพอทีจะดำรงชีพ  และเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ง่าย
ดร.เอดเวิด  โฮเวล  ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า  เอนไซม์ก็เหมือนเม็ดเงินในธนาคาร  คนทั่วไปเบิกเอนไซม์จากธนาคารเอนไซม์ของตนออกมาใช้และไม่ค่อยหามาฝากกลับ คืน  จึงทำให้เอนไซม์หมดไป  และจะเป็นการกระทำที่ฉลาดมาก  ถ้าเราจะพยายามกักตุนเอนไซม์ที่เราผลิตเองในร่างกายเอาไว้  และหาเอนไซม์จากภายนอกมาใช้แทน  ผลการศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ต่างก็สรุปออกมาว่า  เอนไซม์คือ “สมบัติที่มีค่าของชีวิต  และมีอย่างจำกัด  จงใช้อย่างประหยัด”

เอนไซม์กับวิธีการใช้อย่างประหยัด
นักวิทยาศาสตร์บางท่านเชื่อว่า  ถ้าเราลดจำนวนอาหารลง  เราก็จะไม่สิ้นเปลืองเอนไซม์  กล่าวคือ  เราจะตายช้าลง  เพราะจะมีเมแทบอลิกเอนไซม์มากขึ้น  เนื่องจากไม่ต้องไปช่วยในการย่อยอาหาร  สามารถนำไปใช้ซ่อมแซมร่างกายให้แข็งแรง  ตัวอย่างเช่น  สัตว์บางชนิด  (หมาและแมว)  เวลาป่วยมันจะหยุดกินอาหาร  และพยายามออกไปกินต้นหญ้าบางอย่าง  เพราะสัตว์มีสัญชาตญาณที่จะประหยัดเอนไซม์  โดยหยุดกิจกรรมการกินอาหารและหาเอนไซม์จากพืชมาช่วยในระบบร่างกาย  ใช่ว่าหมาและแมวจะฉลาดกว่ามนุษย์  แต่เป็นกฎของการอยู่รอด (Law of Survival)  ซึ่งธรรมชาติเป็นผู้กำหนด  ทำให้สัตว์ต้องกระทำอย่างนั้นด้วยสัญชาตญาณเพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ไว้

เอนไซม์กับชีวิตที่ยืนยาว
ถ้าเอนไซม์ในร่างกายมีมากพอ  มนุษย์อาจมีอายุยืนถึง  120  ปีได้  เพราะเซลล์ในร่างกายสามารถแบ่งตัวได้ตามกำหนดของนาฬิกาชีวิต  ถ้าเอนไซม์ในร่างกายมีระดับต่ำ  โอกาสที่จะป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ  เกิดขึ้นได้ง่ายมาก  ดร.ฮัมบาท  แซนติลโล  ได้เขียนไว้ในหนังสือชื่อ  “เอนไซม์ในอาหาร”  ว่า  คนเราแต่ละคนหรือสิ่งมีชีวิตทั้งหลายควรพิจารณาว่าที่แท้จริง  สุขภาพ  ของเขาคือปฏิกิริยาเคมีของเอนไซม์ที่บูรณาการเข้าด้วยกันอย่างมีระบบ  จึงทำให้ทุกเซลล์ของร่างกายดำเนินไปอย่างปกติสุข
นักวิจัยยังพบว่าผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งจะมีระดับเอนไซม์ในเลือดต่ำกว่า ปกติทุกราย  อย่างไรก็ดีผู้ที่ต้องการมีอายุยืนและสุขภาพแข็งแรง  นอกจากจะระวังในเรื่องการกินอาหารสดและอุดมไปด้วยเอนไซม์แล้ว  ยังต้องรักษาสุขภาพด้านอื่นๆ  ด้วย  เช่น  ออกกำลังกาย  ไม่สูบบุหรี่  ไม่ดื่มเหล้า  มีทัศนคติที่ดีในการดำรงชีวิต  เป็นต้น  และท่านจะมีชีวิตที่ยืนยาวตราบเท่าที่ร่างกายท่านยังมีการทำงานของเอนไซม์ ตามปกติ
เอนไซม์กับบทสุดท้ายของชีวิต
ท่านคงไม่ทราบว่า  ความตายมารอและอาศัยอยู่กับท่านนับตั้งแต่ท่านได้เกิดและมีชีวิตตลอดมา  แท้จริงแล้วร่างกายคนเรามีเอนไซม์อยู่กลุ่มหนึ่งชื่อ  คาเทพซิน  (Cathepsin)  สะสมอยู่ในร่างกายมาตั้งแต่เกิด  โดยจับคู่อยู่กับตัวยับยั้งหรือตัวที่มีหน้าที่บังคับมัน  ไม่ยอมให้เอนไซม์คาเทพซินทำงานได้จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด  เอนไซม์ตัวนี้ธรรมชาติได้สร้างไว้กับมนุษย์เพื่อใช้เมื่อตาย  โดยจะย่อยซากศพให้เน่าเปื่อยจนเหลือแต่กระดูกในที่สุด  แต่ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นั้น  ตัวยับยั้งจะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งและสุดความสามารถ  เพื่อไม่ให้เอนไซม์คาเทพซินย่อยตัวเราทั้งเป็น  แต่สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง เมื่อท่านตายไปแล้วตัวยับยั้งก็หยุดทำงานไป  เมื่อสภาพแวดล้อมของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง  เอนไซม์คาเทพซินก็ถือโอกาสอันมีค่าแผลงฤทธิ์ของมันอย่างเต็มที่  ย่อยสลายร่างที่ไร้วิญญาณ  ไม่มีวามรู้สึก  จนศพเน่าเปื่อยไปในที่สุด  แต่ในปัจจุบันแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ใช้การแช่แข็งด้วยความเย็นจัดเก็บร่าง ของศพเอาไว้  ไม่ยอมให้ตัวยับยั้งสลายไปกับสังขาร   ทำให้ตัวยับยั้งจึงยังคงอยู่เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวห้ามเอนไซม์คาเทพซินต่อ ไป
เอกสารอ้างอิง

ปราณี อ่านเปรื่อง. เอนไซม์ทางอาหาร. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534
พัชรา วีระกะลัส. เอนไซม์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543
รัชนี ตัณฑะพานิชกุล. เคมีอาหาร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนชม, 2535.
สมศักดิ์ วรคามิน. เอนไซม์ กุญแจแห่งชีวิต. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ: สามเจริญพานิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด, 2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น